
วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี แต่ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 01 มีนาคม 2561
วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นวันเกิดพระธรรม ถือว่าเป็นวันที่ พระพุทธเจ้า ได้ประกาศ หลักธรรม คำสั่งสอนของพระองค์ เพื่อให้พระอรหันต์ทั้งหลาย ที่มาประชุมกันในวันนั้น นำไปเผยแผ่
วันมาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า “มาฆปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3 ถือเป็น “วันจาตุรงคสันนิบาต” เป็นวันที่ พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ทรงอภิญญา 6 และเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ซึ่งเรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน 3 พระจันทร์เต็มดวง) และเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ “โอวาทปาติโมกข์” โอวาทปาติโมกข์ เป็นหลักคำสอนอันเป็นหลักหรือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ทำจิตใจให้หมดจดบริสุทธิ์ผ่องใส เป็นการปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ
การประกอบพิธีเวียนเทียนในวันมาฆบูชา ส่วนใหญ่จะจัดพิธีในตอนเย็นหรือค่ำ ที่วัด เครื่องสักการะ จะเป็น ดอกไม้ ธูป เทียน การประกอบพิธีส่วนใหญ่ จะกระทำกันที่โบสถ์ หลังจากฟังโอวาทและสวดมนต์เย็นเสร็จแล้ว จะทำการเวียนเทียนรอบโบสถ์ ในการเดินเวียนเทียน จะกระทำ 3 รอบ โดยเวียนไปทางขวา เรียกว่า “เวียนแบบทักขิณาวัฏ”
ในรอบที่ 1 ให้รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาคาถา บทอิติปิโส ภควาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตมีสมาธิ
ในรอบที่ 2 ให้รำลึกถึงคุณพระธรรม โดยภาวนาคาถา บทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ
ในรอบที่ 3 ให้รำลึกถึงคุณพระสงฆ์ โดยภาวนาคาถา บทสุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ
หลักการ คือ หลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องมี 3 ประการ ได้แก่
1. ไม่ทำบาปทุกชนิด จะบาปมากหรือบาปน้อยก็ไม่ทำ เพราะมีกฏแห่งกรรมคอยบังคับอยู่ ต้องศึกษาจากท่านผู้รู้ว่าสิ่งใดควรทำ หรือไม่ควรทำ บาปแม้เพียงน้อยนิดไม่คิดทำ (สพฺพปาปสฺส อกรณํ)
2. ทำความดีให้ถึงพร้อม ความดีอะไรที่มีอยู่ในโลกนี้ ถ้ามีโอกาสต้องทำให้เต็มที่ บุญแม้น้อยนิดก็ต้องคิดทำ ไม่ว่าคนอื่นจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม (กุสลสฺสูปสมฺปทา)
3. กลั่นจิตของตนให้ใส โดยหมั่นนั่งสมาธิ (Meditation) ทุกวันไม่ให้ขาด เมื่อใจใสมากแล้ว พระนิพพานก็ไม่ไกลเกินจะไปถึง เพราะสมาธิก็คือใจที่ตั้งมั่นที่เป็นกุศล (สจิตฺตปริโยทปนํ)
Leave a Reply