
เช้าวันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2552 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เส้นทางคราสเต็มดวงผ่านหลายประเทศในเอเชีย แต่ไม่ผ่านประเทศไทย เราจึงจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีเมื่อเวลาประมาณตี 3 ของวันเดียวกัน และเกิดหลังจากที่ดวงอาทิตย์อยู่ไกลจากโลกมากที่สุด 2-3 สัปดาห์ ทำให้ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้สุริยุปราคาครั้งนี้มีระยะเวลามืดเต็มดวงยาวนานมาก
บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครอบคลุมส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย มหาสมุทรแปซิฟิก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นทางใต้ของอินโดนีเซีย ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนของประเทศไทย มีโอกาสเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งตรงข้ามกับสุริยุปราคาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยดวงอาทิตย์จะเริ่มแหว่งทางซ้ายมือด้านบนและไปสิ้นสุดทางซ้ายมือด้านล่าง
วิธีสังเกตสุริยุปราคาบางส่วนที่ปลอดภัย คือการสังเกตทางอ้อม ได้แก่ การให้แสงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาลงไปปรากฏบนฉากรับภาพ อีกวิธีซึ่งทำได้ง่าย คือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม นำกระดาษมาเจาะรูขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ไปปิดที่กระจกเงา แล้วนำกระจกเงาบานนั้นไปรับแสงอาทิตย์ ให้แสงสะท้อนไปตกบนผนังสีอ่อนหรือฉากรับภาพสีขาวที่อยู่ในที่ที่แสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง เมื่อเกิดสุริยุปราคา ภาพดวงอาทิตย์บนฉากจะแหว่งตามลักษณะดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า หากมีต้นไม้อยู่ใกล้ ๆ อาจสังเกตเห็นว่าแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านช่องระหว่างใบไม้แล้วไปตกบนพื้นหรือผนัง ก็มีลักษณะแหว่งเว้าตามดวงอาทิตย์
ต้นปีหน้าจะเกิดสุริยุปราคาขึ้นอีกครั้งในบ่ายวันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2553 เป็นสุริยุปราคาวงแหวน เส้นทางคราสพาดผ่านทวีปแอฟริกา มหาสมุทรอินเดีย ทางใต้ของประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า และจีน ประเทศไทยอยู่นอกแนวคราสวงแหวน จึงเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน
เวลาเกิดสุริยุปราคาจังหวัดเพชรบุรี เริ่มเวลา 07.07 น. บังเต็มที่เวลา 08.03 น. สิ้นสุดเวลา 09.07 น.
ข้อมูลจากสมาคมดาราศาสตร์ไทย
Leave a Reply